ครอบครัวกาลี
“ครอบครัวกาลี” นวนิยายเปี่ยมพลัง-ท้าทายการตีความ ผลงานเล่มใหม่ล่าสุดของอุเทน พรมแดง หนึ่งในนักเขียนที่ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากที่สุดในประเทศ อาทิ รางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด, รางวัลหนังสือดีเด่น สพฐ., รางวัลชนะเลิศพานแว่นฟ้า และอื่นๆ รวมกว่า 30 รางวัลระดับชาติ!
เรื่องย่อ
ราวยี่สิบปีก่อน ว่ากันว่ามีครอบครัวหนึ่งเร่ร่อนมาถึงหมู่บ้านชนบทเล็กๆ และเข้าไปครอบครองอาศัยในเรือนไม้เก่าๆ ริมคลองซึ่งถูกทิ้งร้าง ชาวบ้านพูดกันว่าพวกเขาเป็นครอบครัวสติไม่ดี มีพฤติกรรมสมสู่กันเองในสายเลือด อีกทั้งแม่กับลูกสาวยังหลับนอนกับผู้ชายในหมู่บ้านไม่เลือกหน้าเพื่อแลกเงิน ไม่นานนักสมาชิกในครอบครัวนั้นก็ทยอยกันหายตัวไปทีละคนสองคนอย่างลึกลับเป็นปริศนา
ยี่สิบปีต่อมา ใครคนหนึ่งเดินทางไปที่หมู่บ้านนั้นเพื่อพยายามตามเก็บร่องรอยของ “ผี” เหล่านั้นอีกครั้ง…
สารบัญ
บทนำ
สุพร: เพื่อนบ้านข้างเคียง
สินธร: อดีตเจ้าของบ่อนใกล้สถานีรถไฟ
ธานี: เพื่อนบ้านฝั่งคลองตรงข้าม
อนงค์: แม่บ้านโรงแรมในตัวอำเภอ
บุญส่ง: สัปเหร่อของหมู่บ้าน
อำพล: พระลูกวัดบางพลับพลึง
คงเดช: คนหาปลาในลำคลอง
อาทิตย์: ครูโรงเรียนประถม
สมยศ: ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน
ทองดี: คนทรงประจำหมู่บ้าน
บทส่งท้าย
คำนำสำนักพิมพ์
มีข้อสังเกตน่าสนใจบางประการเกี่ยวกับนวนิยาย “ครอบครัวกาลี” เล่มนี้…
ประการแรก นวนิยายเรื่องนี้เป็นงานเขียนแนวสร้างสรรค์สะท้อนสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าก็มีกลิ่นอายของงานแนวสืบสวนสอบสวนอยู่ไม่น้อยทีเดียว การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงได้รสชาติแปลกใหม่ที่คุณผู้อ่านน่าจะไม่เคยลิ้มลองมาก่อน
ประการต่อมา ในนวนิยายโดยทั่วไป ผู้เขียนจะเล่าถึงตัวละครหลักในเรื่องโดยตรง ใครเป็นตัวละครสำคัญ ผู้เขียนก็จะเล่าว่าตัวละครนั้นเป็นใคร ทำอะไร พูดอะไร หรือมีนาฏกรรมชีวิตเป็นไปอย่างไรบ้าง (ส่วนจะเล่าผ่านมุมมองไหนอย่างไรก็อีกเรื่อง) ทว่าในนวนิยาย “ครอบครัวกาลี” เล่มนี้ เรากลับรับรู้เรื่องราวของตัวละครหลักผ่านการบอกเล่าของตัวละครอื่นอีกอย่างน้อยสองชั้น ซึ่งนี่เป็นกลวิธีการเล่าเรื่องที่ผิดแผกไปจากนวนิยายเล่มอื่น
อีกประการหนึ่ง การอ่านนวนิยายเล่มนี้อาจทำให้คุณนึกไปถึง “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติ นั่นเพราะเป็นนวนิยายที่เกี่ยวข้องกับคนสติไม่ดี เกี่ยวกับมุมมองของผู้คนในสังคมหรือหมู่บ้าน โดยมีฉากเป็นท้องถิ่นชนบทคล้ายคลึงกัน ทว่า “ครอบครัวกาลี” หาใช่นวนิยายประเภทที่อ่านจบแล้วเข้าใจได้โดยง่ายว่า “สาร” ที่ผู้เขียนต้องการ “สื่อ” คืออะไร คุณผู้อ่านอาจต้องขบคิดหลายชั้นจึงจะตีความสิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอได้ (ซึ่งการตีความต่างไปจากที่ผู้เขียนเจตนาหาใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด)
และประการสุดท้าย…เชื่อมโยงกับเรื่องการตีความนวนิยายเรื่องนี้ หากต้องการเข้าถึงสารที่ผู้เขียนต้องการสื่อ คุณผู้อ่านจะสนใจแต่ “เรื่องราวที่ถูกเล่า” ไม่ได้โดยเด็ดขาด แต่ต้องเพ่งเล็งไปที่ “วิธีการที่เรื่องราวนั้นถูกเล่า” จึงจะพอมองออกได้ว่าผู้เขียนกำลังพยายามบอกอะไรกับเรา
หวังว่าคุณผู้อ่านจะมีความสุขกับการอ่านและตีความนวนิยายเล่มนี้
คำนำผู้เขียน
คงไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงหากจะพูดว่า นวนิยายขนาดไม่ยาวนักเล่มนี้ คือนวนิยายที่เขียนยากที่สุดเท่าที่ผมเคยเขียนมา…
ระหว่างพยายามเขียน “ครอบครัวกาลี” ให้จบจนตลอดรอดฝั่ง มีหลายครั้งหลายหนที่ผมนึกท้อจนอยากเลิกเขียนกลางคัน นึกอยากลบไฟล์งานทิ้งไป แล้วลืมให้สนิทว่าเคยลงมือเขียนงานเขียนชิ้นนี้ มีแม้กระทั่งความรู้สึกเหนื่อยล้าถึงขั้นไม่อยากตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่
โครงเรื่องไม่ใช่ปัญหาสำคัญในการเขียนนวนิยายเล่มนี้ ผมพอมองเห็นความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์และตัวละครต่าง ๆ ทว่าปัญหาน่าหนักใจอยู่ตรงที่มุมมองในการเล่าเรื่องต่างหาก ผมครุ่นคิดวันแล้ววันเล่าว่าควรเลือกใช้มุมมองไหนเพื่อขับเน้นประเด็นคิดที่ตั้งใจสื่อสารออกไปให้แจ่มชัดที่สุด หลังจากเขียนต้นฉบับไปเป็นสิบ ๆ หน้าแล้ว ยังต้องมารื้อแก้เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่องใหม่ทั้งหมด ทำเช่นนั้นซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายครั้ง แม้หลังจากส่งต้นฉบับไปพิสูจน์อักษรเตรียมพร้อมเข้าโรงพิมพ์ ผมยังตัดสินใจแก้ไขสรรพนามของตัวละครที่ใช้เล่าเรื่องเป็นหนสุดท้าย
สรุปเบ็ดเสร็จแล้วผมใช้เวลาเขียนนวนิยายความยาวไม่ถึง 200 หน้า (พ็อกเกตบุ๊ก) นานถึงราว 2 เดือนทีเดียว ผมไม่รู้ว่านักเขียนส่วนใหญ่ใช้เวลาเขียนนวนิยายสักเรื่องหนึ่งนานแค่ไหน แต่หากเปรียบเทียบแค่เฉพาะกับตัวเองแล้ว ระยะเวลา 2 เดือนถือว่ายาวนานอยู่ไม่น้อย ปกติแล้วผมใช้เวลาเขียนนวนิยายขนาดยาวกว่านี้ 2 เท่าเพียงแค่ไม่เกิน 1 เดือนเป็นอย่างมากด้วยซ้ำ
ห้วงเวลา 2 เดือนยาวนานและทุกข์ทรมานราวกับเดินท่องอยู่ในนรก!
ทว่าสุดท้ายผมก็เขียนนวนิยายเรื่องนี้จบลงจนได้ ผมเดินฝ่าขุมนรกของคนเป็นนักเขียนมาได้ และสุดท้ายปลายทางที่รอคอยอยู่คือสรวงสวรรค์
นวนิยายจากความตั้งใจและความรักอีกเรื่องหนึ่งจบลง เรื่องราวคาค้างอยู่ในหัวมายาวนานถูกถ่ายทอดออกไป ไม่ต้องรู้สึกผิดติดค้างกับตัวละครในเรื่องเล่าซึ่งดิ้นรนอยากมีตัวตนบนหน้ากระดาษ
หนังสืออีกเล่มกำลังจะเดินทางไปสู่สายตานักอ่านกลุ่มเล็ก ๆ เพียงไม่กี่คน ภาระหน้าที่ของคนเป็นนักเขียนจบลงอีกช่วงตอนหนึ่ง ผมได้ผ่อนพักเพื่อขบคิดและอีกไม่นานก็ต้องลงมือเขียนผลงานชิ้นต่อไป
แม้ตอนเขียนนวนิยายเล่มนี้มีบางวูบขณะที่ผมรู้สึกเหนื่อยท้อจนไม่อยากตื่นขึ้นมาอีก ทว่านั่นเป็นเพียงชั่ววูบความคิด ภายใต้สติสำนึกส่วนใหญ่ ผมยังคงอยากตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่เพื่อเขียนหนังสือ เขียนหนังสือ และเขียนหนังสือต่อไป…
จนกว่าจะไม่มีเช้าวันใหม่มาเยือนชีวิตอีกแล้ว
ตัวอย่างหนังสือ