เด็กชายในกองขยะ
เด็กชายคนหนึ่งถูกทอดทิ้งให้เติบโตและมีชีวิตอยู่ท่ามกลางกองขยะของเมืองเมืองหนึ่ง เขาถูกเลี้ยงดูแบบตามมีตามเกิดโดยชายชราตาเดียว และมีหมาน้อยอีกตัวหนึ่งเป็นเพื่อน เด็กชายกินเศษขยะประทังชีวิต นอนในกองขยะ ใช้ทั้งชีวิตอยู่กับกองขยะ กระทั่งวันหนึ่งมีรถสีขาวแล่นเข้ามารับชายชราตาเดียวจากไปและไม่เคยหวนกลับมาอีก
ไม่นานต่อมาเมื่อมีใครบางคนถ่ายรูปเด็กชายไปโพสต์ลงในโลกโซเชียล เด็กชายก็ค่อย ๆ กลายเป็นคนดังในสังคมออนไลน์ มีแต่ผู้คนหันมาสนอกสนใจและให้ความสำคัญ ไม่นานชายผู้มีอำนาจก็มารับตัวเด็กชายไปเพื่อตระเวนออกรายการตามสื่อต่าง ๆ
เพียงชั่ววูบชีวิตของเด็กชายก็ไปลงเอยที่บ้านเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง ที่นั่นเขาได้รู้จักมิตรภาพวัยเยาว์และแง่มุมโหดร้ายของผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น บ้านเด็กกำพร้าไม่ได้เลวร้ายเสียทีเดียว แต่เด็กชายก็ต้องพยายามหนีออกไปให้ได้อยู่ดี เพราะหมาน้อยเพื่อนยากยังคงรอคอยเขาอยู่ที่กองขยะ…
สารบัญ
● เจ้าลายเสือเกือบถูกรถชน
● คนแปลกหน้ามาขอถ่ายรูป
● อาบน้ำครั้งแรกในรอบเดือน
● จากท้องของใครสักคนสู่กองขยะ
● เพื่อนใหม่ของเด็กชายขยะ
● เฒ่าจุ่นไม่ได้มีตาเดียวตั้งแต่เกิด
● น้องหัวกะโหลก
● ร่างบางร่างคว่ำหน้าในกองขยะ
● รถสีขาวแล่นเข้ามาแล้วจากไป
● ค่ำคืนแห่งพายุฝน
● เด็กชายขยะกลายเป็นคนดัง
● ขนมอร่อยและเสื้อผ้าใหม่เอี่ยม
● แอ็ดมินเพจมาขอสัมภาษณ์
● ท่านมารับตัวเด็กชายขยะ
● ลาจากกองขยะ
● ห้องหับเล็ก ๆ ในบ้านหลังใหญ่โตโอ่อ่า
● รอคอยวันแล้ววันเล่า
● ออกโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ
● ชื่อเสียงอันแสนสั้น
● แหล่งพักพิงแห่งใหม่
● พวกเด็ก ๆ ดวงตาเศร้า
● ต่างที่มาที่ไป
● พ่อกับแม่เรียกไปถ่ายรูป
● แผนการเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
● การหลบหนีครั้งแรก
● โทษทัณฑ์ของคนทำผิด
● ก่อนจะอดข้าวอดน้ำจนตาย
● วันคืนในคุกผี
● ประตูรั้วเปิดออกแล้ว
● กลับสู่กองขยะ
คำนำสำนักพิมพ์
ขณะที่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่มีบ้านให้พักพิง มีอาหารดี ๆ ให้ลิ้มรส มีเตียงนอนนุ่มให้เอนกาย มีครอบครัวอบอุ่นพร้อมหน้า…
เด็กบางคนอาจไม่มีสิ่งที่ว่ามาแม้แต่อย่างเดียว
เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้บอกกับเราว่า ความล่มสลายทางศีลธรรมของโลกยุคใหม่ผลักไสให้เด็กบางคนกลายสภาพเป็น “ขยะ” ถูกทิ้งขว้างอย่างไร้ค่า อยู่หรือตายไม่มีใครสนใจอยากรู้ ขณะเดียว
กันโลกยุคใหม่ก็เต็มไปด้วยความย้อนแย้งอย่างน่าตลกขบขัน เมื่อ “ขยะ” ชิ้นนั้นถูกมองเห็นและได้รับการพูดถึงต่อ ๆ กันไป เพื่อนร่วมโลกกลับหันมาจับจ้อง วิ่งเข้าหา หยิบยื่นสิ่งที่ดูคล้ายน้ำใจไมตรี ทว่าทั้งหมดทั้งปวงอาจเพียงเพื่อให้ตัวเองล่องไหลกับไปเครือข่ายสังคมสมัยใหม่อย่างมีตัวตน
อ่านเรื่องราวของ “เด็กชายขยะ” แล้ว เราจะมองเห็น “เปลือก” อันแสนอัปลักษณ์ของสังคม อย่างไรก็ตามท่ามกลางความอัปลักษณ์และไร้แก่นสารเหล่านั้น ก็ยังหลงเหลือสิ่งงดงามในบางแง่มุมของความเป็นมนุษย์ให้สัมผัสได้อยู่บ้าง
ซึ่งนั่นก็คงพอช่วยให้โลกรอบตัวเราไม่หม่นเศร้าจนเกินไป
คำนำผู้เขียน
โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ล้วนน่าเศร้ากว่าโศกนาฏกรรมทั่วไปเสมอ และเด็กบางคนก็ไม่ได้พบเจอโศกนาฏกรรมเพียงครั้งเดียวในชีวิต แต่ต้องประสบกับโศกนาฏกรรมซ้อนโศกนาฏกรรมซ้อนโศกนาฏกรรม…ซึ่งดาหน้าเข้ามาในหลากหลายรูปแบบ
คุณอาจไม่เชื่อถ้าผมบอกว่า เด็กที่อาศัยและเติบโตอยู่ในกองขยะมีอยู่จริง พวกเขาไม่ได้มีตัวตนอยู่แค่ในเรื่องแต่ง ทว่ามีชีวิตและลมหายใจอยู่ในโลกจริงใบเดียวกับเรา เพียงแต่เราไม่เคยสนใจ ไม่เคยรับรู้ ไม่เคยเหลือบมอง หรือไม่เคยแม้แต่จินตนาการถึง
ชีวิตเล็ก ๆ ที่เติบโตมากับกองขยะเป็นยิ่งกว่าโศกนาฏกรรมด้วยซ้ำ
ในมุมของคนเขียนหนังสือธรรดาสามัญคนหนึ่ง หน้าที่ของผมจบลงแล้วหลังจากบอกเล่าเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งออกไปในรูปแบบของงานวรรณกรรม ส่วนหนังสือเล่มนี้ในฐานะที่เป็นงานวรรณกรรม ผมได้แต่หวังว่ามันจะมีโอกาสทำหน้าที่ของมัน…ได้เดินทางสู่สายตานักอ่าน บอกเล่าเรื่องราวให้รับรู้ กระตุ้นเตือนให้ฉุกคิด
และยิ่งกว่านั้น…ทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของทุกชีวิตมากขึ้น
รีวิวจากผู้อ่าน
● อ่านแล้วรู้สึกเหมือนโดนตบหน้าเลยค่ะ – Blu Sea
● อยากบอกว่าเนื้อเรื่องน่าอ่านมาก สะท้อนสังคมไทย ณ ตอนนี้ได้เป็นอย่างดี และสะท้อนที่สุดคือตอนจบที่ได้กลับมาบ้านแล้วไม่เหลือใครแม้แต่หมาสักตัว…แนะนำครับ – สวัสติ คชมรรคา
● สนุกมาก เศร้ามาก แต่ก็ชอบมากกกกก… – Meme Meme
● มีทั้งความเศร้าและ Fell Good อยู่ในเล่มเดียว ชอบเลยค่ะ – Noo Na
● เหมือนผู้เขียนเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ แต่เราก็หยุดอ่านไม่ได้ อ่านรวดเดียวจบเลย – เจ้า ตัวยุ่ง
● เพิ่งอ่านเด็กชายขยะจบ ไม่ถึงกับร้องไห้น้ำตาแตก แต่ก็เผลอน้ำตาซึมหลายครั้งเลยค่ะ เศร้านะ แต่ก็มีมุมน่ารักเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะพวกเด็กที่บ้านเด็กกำพร้าอะไรนั่น – Oil Suda
● เล่มนี้สะท้อนภาพสังคมยุคโซเชียลมีเดียออกมาได้ดีเลยครับ มีแต่พวกหิวแสง ไม่มีใครสนใจชีวิตใครจริงๆ เลย – เป็นต่อ
● เด็กๆ อ่านก็คงสนุก แต่ผู้ใหญ่อ่านแล้วอึ้งเลย – ณัฐวุฒิ อาร์ม
ตัวอย่างหนังสือ