ทับสมิงคลาและบรรดาเรื่องเล่าของเหล่าสัตว์
“ทับสมิงคลา และบรรดาเรื่องเล่าของเหล่าสัตว์” รวมเรื่องสั้นสร้างสรรค์ลำดับที่ 16 ของ “อุเทน พรมแดง” หนึ่งในนักเขียนผู้ได้รับรางวัลระดับชาติมากที่สุด!
หนังสือเล่มนี้เล่าถึงบรรดาส่ำสัตว์ซึ่งสะท้อนตัวตนความเป็นมนุษย์ออกมาได้อย่างหมดเปลือก อ่านสนุก เปี่ยมพลัง และสะเทือนอารมณ์
สารบัญ
ทับสมิงคลา
กลายเป็นช้างป่า
หมาของแม่
สัตว์ต่างถิ่น
ตุ๊กแกกับงูเขียว
บ้านสารพัดสัตว์
ลิงปัญหา
จระเข้กินคน
สัตว์ร้ายในป่าลึก
คำนำสำนักพิมพ์
รวมเรื่องสั้นเล่มนี้พูดถึงสัตว์หลากหลายชนิด เช่น งู, ช้าง, หมา, นก, ลิง, กิ้งก่า, ตุ๊กแก, เหี้ย, จระเข้ ไปจนถึงสัตว์บางอย่างซึ่งไม่อาจระบุชื่อได้แน่ชัด บรรดาสัตว์ในเรื่องเล่าเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นสัตว์มีชีวิตและเลือดเนื้อจริง ๆ ซึ่งเราพบเห็นได้ทั่วไป รวมถึงสัตว์ที่ไม่เพียงแต่มีชีวิตเลือดเนื้อเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์สื่อไปถึงบางสิ่งบางอย่างที่กว้างและลึกกว่านั้นอีกด้วย
อ่านหนังสือเล่มนี้จบลง คุณผู้อ่านอาจไม่ได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ มากขึ้นอย่างที่คิด แต่กลับจะได้เห็นตัวตนความเป็นมนุษย์ และเข้าใจสัจธรรมพื้นฐานของชีวิตมากยิ่งขึ้น
คนและสัตว์ต่างแหวกว่ายในสายธารแห่งชีวิต เข้ามาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในหลายมิติ ทิ้งร่องรอยเรื่องราวให้เราได้เก็บเอามาครุ่นคิด
และบางที สัตว์เหล่านี้อาจทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราขยับสูงขึ้นอีก…สักเล็กน้อยก็ยังดี
คำนำผู้เขียน
หากนับเฉพาะรวมเรื่องสั้นแนวสร้างสรรค์ ผมกำลังเขียนคำนำให้หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มที่ 16 ในชีวิตการเป็นนักเขียนของตัวเอง…
งานวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นยังคงมีมนต์ขลังสำหรับผมไม่เสื่อมคลาย เรื่องสั้นเป็นงานเขียนที่อ่านยากที่สุด เขียนยากที่สุด หากคุณเขียนเรื่องสั้นเป็น เขียนออกมาได้อย่างมีคุณภาพ ก็ไม่มีงานเขียนประเภทไหนในโลกอีกแล้วที่คุณเขียนไม่ได้
ในขณะเดียวกัน เรื่องสั้นยังเป็นงานวรรณกรรมที่ทรงพลังที่สุด…อย่างน้อยก็ในมุมมองส่วนตัวของผม เรื่องสั้นดี ๆ ส่งพลังจากตัวอักษรมากระทบความรู้สึกคนอ่าน ทำให้เราเป็นสุข อิ่มเอม เข้าใจชีวิต ไปจนถึงเศร้าสร้อย ปวดร้าว หดหู่ หรือพรั่นพรึงตะลึงงัน ความคมกริบบาดลึก จู่โจมความรู้สึกรวดเร็ว และสร้างผลกระทบในฉับพลันทันใด คือจุดเด่นของเรื่องสั้นซึ่งนวนิยายไม่อาจทำได้
ผมเริ่มต้นเขียนหนังสือด้วยงานเขียนประเภทเรื่องสั้น พอเป็นที่รู้จักในแวดวงนักอ่านอยู่บ้างก็ด้วยงานประเภทเรื่องสั้น ผ่านมาราว 25 ปีนับจากเรื่องสั้นเรื่องแรกผ่านการตีพิมพ์ ผมยังคงเขียนเรื่องสั้นมากกว่างานเขียนประเภทไหน ๆ ไม่มีงานวรรณกรรมประเภทใดที่ผมเขียนแล้วอิ่มลึกเปี่ยมสุขเท่ากับเรื่องสั้นอีกแล้ว
เรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้ เกือบทั้งหมดเป็นงานที่เขียนขึ้นใหม่ ไม่เคยผ่านการตีพิมพ์ไม่ว่าในรูปแบบใดมาก่อน มีเพียง 2 เรื่องซึ่งเคยตีพิมพ์มาแล้ว และผมอยากใช้พื้นที่ตรงนี้พูดถึงเรื่องสั้น 2 เรื่องที่ว่านี้สักนิด
เรื่องสั้น “สัตว์ต่างถิ่น” เคยตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ผมลังเลอยู่ไม่น้อยว่าควรนำมารวมเล่มกับเรื่องสั้นอื่น ๆ ซึ่งล้วนเขียนขึ้นในห้วงเวลาไม่เกินปีสองปีนี้หรือไม่ คิดกังวลว่าเรื่องสั้นที่เขียนไว้ตั้งแต่วัยหนุ่มอาจดูผิดที่ผิดทางเมื่อมาอยู่รวมกับเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นในช่วงคาบเกี่ยววัยกลางคนแล้ว แต่กระนั้นด้วยความที่ “สัตว์ต่างถิ่น” เป็นเรื่องสั้นที่ผมชอบ หาโอกาสนำมาใส่รวมในหนังสือรวมเรื่องสั้นก่อนหน้านี้มาโดยตลอด แต่ยังไม่มีเล่มไหนเหมาะเจาะเหมาะใจ กระทั่งมาถึง “ทับสมิงคลา และบรรดาเรื่องเล่าของเหล่าสัตว์” เล่มนี้ ผมจึงคิดว่าถึงเวลาที่ “สัตว์ต่างถิ่น” จะได้มีที่ทางของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องสั้นอีกเรื่องคือ “ตุ๊กแกกับงูเขียว” เคยตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ “งูเขียวกินตับตุ๊กแก” โดยรวมไว้ในรวมเรื่องสั้นแนวอีโรติก-หักมุมชื่อ “กลราคะคาว” (ผมเขียนโดยใช้อีกนามปากกา) ซึ่งเพิ่งพิมพ์ออกไปในปีเดียวกันนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องสั้น “ตุ๊กแกกับงูเขียว” ในหนังสือเล่มนี้ กับเรื่องสั้น “งูเขียวกินตับตุ๊กแก” ที่ว่านั้น ไม่ใช่เรื่องสั้นเรื่องเดียวกันเสียทีเดียว นั่นเพราะเรื่องสั้น 2 เรื่องนี้ถูกแก้เกลาให้มีความแตกต่างกัน ลำดับการดำเนินเรื่องบางส่วนไม่เหมือนกัน จุดมุ่งหมายของเรื่องก็เน้นไปที่คนละประเด็น ฉะนั้นสำหรับนักอ่านที่เคยได้อ่าน “งูเขียวกินตับตุ๊กแก” มาแล้ว เมื่อมาลองอ่าน “ตุ๊กแกกับงูเขียว” ในเล่มนี้ จะพบว่ามีรสชาติแตกต่างกันออกไป เหตุผลที่ผมนำเรื่องสั้นซึ่งเกือบเป็นเรื่องเดียวกันมาตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ 2 เล่ม ไม่ใช่เพราะทำงานลวก ๆ หรือขี้เกียจเขียนเรื่องอะไรทำนองนั้น
แต่เป็นเพราะเรื่องสั้นเรื่องนี้สามารถพลิกแพลงให้มีอรรถรสต่างไปจากเดิมได้ไม่น้อยเพียงแค่ปรับแก้และสลับฉากการดำเนินเรื่องบางส่วน จากเรื่องสั้นอีโรติก-หักมุมที่เน้นความสนุกสนานอ่านเพลิน ก็กลายมาเป็นงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่ชวนให้ขบคิดดิ่งลึกได้
คำนำในหนังสือรวมเรื่องสั้นสร้างสรรค์เล่มที่ 16 ของผมน่าจะจบลงเพียงเท่านี้ หน้าที่ของคนเขียนหนังสือสิ้นสุด เหลือเพียงหน้าที่ของคนอ่านที่จะซึมซับรับรสในเนื้องานอันเกิดจากความรักและความสุขของคนเขียน
ไม่อยากใช้คำพูดเฉิ่มเชยซ้ำซาก แต่ผมก็อยากพูดอยู่ดีว่า หวังว่าคุณผู้อ่านจะมีความสุขกับการอ่านตัวหนังสือของผม
ตัวอย่างหนังสือ