มนุษย์ผู้ไม่ต้องทำงานตลอดชีวิต
“มนุษย์ผู้ไม่ต้องทำงานตลอดชีวิต” วิธีคิดและมุมมองต่อชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งซึ่งทำให้ “งาน” กับสิ่งที่ “รัก” กลายเป็นสิ่งเดียวกัน
หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่…
● ยังค้นไม่เจอความสุขที่แท้จริงของชีวิต ไม่รู้ว่าควรเดินต่อไปทางไหนดี
● ยังคงเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานหาเงินเพื่อแลกซื้อความสุขไปวันๆ
● รู้สึกเบื่อหน่าย หมดไฟ อิ่มตัวกับการงานอันจำเจ
● ไม่กล้าเสี่ยงพาชีวิตออกนอก Comfort Zone
● ไม่กล้าคิดเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยตัวเอง
คุณจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ของมนุษย์คนหนึ่งที่เริ่มก้าวแรกจากติดลบ จนกระทั่งกลายเป็นนักเขียนที่ได้รางวัลมากที่สุด (33 รางวัลในวัย 43 ปี) และมีธุรกิจสำนักพิมพ์เล็กๆ เป็นของตัวเอง
สารบัญ
● มนุษย์ผู้ไม่ต้องทำงานตลอดชีวิต
● ค้นหาความสุขแท้จริงของชีวิตให้เจอ
● ใช้ประสบการณ์กับจินตนาการสร้างฝัน
● การอ่านเปลี่ยนชีวิตเราได้
● รู้จักลอยตัวอยู่เหนือเสียงวิจารณ์
● ก้าวข้ามข้อจำกัดเพื่อพัฒนาตัวเอง
● ทำธุรกิจแบบตัวคนเดียว
● ทำงานหนักให้เหมือนเป็นวันสุดท้าย
คำนำสำนักพิมพ์
หนังสือ “มนุษย์ผู้ไม่ต้องทำงานตลอดชีวิต” เล่มนี้ นับเป็นเล่มที่สองในซีรีส์ “เขียนเปลี่ยนชีวิต” ซึ่งผู้เขียนและสำนักพิมพ์ตั้งใจจัดพิมพ์ออกมา
ในหนังสือเล่มแรกของชุดอย่าง “ชาวนาผู้ทำนาบนหน้ากระดาษ” ผู้เขียนเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของตัวเองตั้งแต่วัยเด็กจนกลายมาเป็นนักเขียนอย่างทุกวันนี้ เนื้อหาหนังสือจึงเข้าทำนองเป็นอัตชีวประวัติ
ส่วนหนังสือเล่มนี้ เป็นการแชร์ประสบการณ์ในการทำงาน การเป็นนักเขียน รวมถึงบอกเล่ามุมมองต่อชีวิตของผู้เขียน ซึ่งสำนักพิมพ์เราคิดว่า ตัวอักษรที่ผู้เขียนประดิดประดอยเรียงร้อยไว้ในเล่มนี้ น่าจะช่วยเป็นแรงกระตุ้นหรือแรงบันดาลใจสำหรับคนที่กำลังค้นหาตัวเอง หรือสับสนเคว้งคว้างอยู่ว่า ควรมุ่งหน้าชีวิตไปทางไหนหรือทุ่มเททั้งชีวิตไปกับอะไรดี
หวังว่าพลังเล็ก ๆ ที่อัดแน่นในหนังสือเล่มนี้จะส่งไปถึงผู้อ่าน และช่วยให้ทุกคนค้นหา “งาน” ที่ตัวเอง “รัก” จนพบในที่สุด
คำนำผู้เขียน
ขณะกำลังคิดอยู่ว่าผมจะเขียนคำนำให้หนังสือเล่มใหม่ของตัวเองอย่างไรดี ช่างบังเอิญที่ผมไปเจอข้อความในลักษณะคำคมของพวกไลฟ์โค้ชในโลกออนไลน์เข้า ข้อความนั้นมีอยู่ว่า…
“โตมาถึงได้รู้ว่า ไม่ต้องทำหรอกงานที่รัก ให้ไปทำงานที่ไม่ได้รักมาก แต่กินเวลาชีวิตน้อย ได้เงินสูงสุด แล้วค่อยเอาเวลาที่เหลือไปทำในสิ่งที่รัก”
อ่านโดยผิวเผินคำพูดนี้เหมือนจะสมเหตุสมผลและน่ายึดถือเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต แต่ถ้าอ่านให้แตกจะเห็นช่องโหว่หลายอย่าง ช่องโหว่แรกคือเจ้าของข้อความพูดถึงสิ่งเดียวกัน แต่จุดแรกใช้คำว่า “งานที่รัก” ส่วนจุดที่สองใช้คำว่า “สิ่งที่รัก” ทำให้เกิดคำถามว่าใช่สิ่งเดียวกันหรือเปล่า หรือเพราะเนื้อหาของคำพูดนี้มีความขัดแย้งในตัวเอง จึงต้องเปลี่ยนถ้อยคำเพื่อหลบเลี่ยงช่องโหว่
ถ้าเราคิดซื่อ ๆ ว่า “งานที่รัก” กับ “สิ่งที่รัก” หมายถึงสิ่งเดียวกัน สมมุติว่างานที่ผมรักคืออาชีพครู ผมอยากเป็นครูสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียนเล็ก ๆ สักแห่งอะไรทำนองนั้น แบบนี้แสดงว่าผมควรทำงานอย่างอื่นที่กินเวลาน้อยแต่ได้เงินเยอะ อย่างเช่นไปเล่นหุ้น (แค่ยกตัวอย่างนะครับ) พอมีเวลาว่างจากการเล่นหุ้น ก็ค่อยมาเป็นครู…อย่างนั้นหรือ?
ตลกมั้ยครับ อยู่ ๆ ผมจะมาเป็นครูได้อย่างไรหากไม่ได้เรียนจบสาขาที่เกี่ยวข้องแล้วสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูให้ได้ อาชีพครูไม่ใช่ว่านึกอยากทำเมื่อไหร่ก็ค่อยมาทำได้
ส่วนข้อความที่ว่า “ให้ไปทำงานที่ไม่ได้รักมาก แต่กินเวลาชีวิตน้อย ได้เงินสูงสุด” ก็ฟังดูเพ้อเจ้อไปสักนิด ราวกับว่าใคร ๆ ก็หางานที่ทำไม่นานแต่ได้เงินมากมายกันได้ง่าย ๆ นั่งนึกตอนนี้ผมยังนึกไม่ออกเลยว่างานอะไรเข้าข่ายนั้นได้บ้าง แล้วจะมีสักกี่คนที่ทำเช่นนั้นได้
ประเด็นสำคัญที่สุดซึ่งผมสงสัยจากการอ่านถ้อยคำนี้คือ ถ้างานที่เรารักสร้างรายได้ให้พออยู่รอดได้ไม่ลำบาก เหตุไฉนเรายังต้องฝืนใจไปทำงานที่ไม่ได้รัก (หรือรักน้อยกว่าก็ตาม) อีกเล่า หรือคนอายุ 40 กว่าอย่างผมยัง “โต” ไม่พอที่จะเข้าใจชีวิตเหมือนเจ้าของถ้อยคำนี้
หรือจริง ๆ แล้ว คำพูดนี้ก็แค่ข้ออ้างของคนที่ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยงานที่ตัวเองรัก จำเป็นต้องทนทำงานอื่นด้วยความทุกข์เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ แล้วปั้นแต่งถ้อยคำสวยหรูขึ้นมาปลอบใจตัวเองไปวัน ๆ
หนังสือของผมเล่มนี้กำลังพูดในสิ่งตรงกันข้ามกับที่ถ้อยคำข้างต้นบอกไว้ ผมกำลังจะแนะนำให้คุณเลือกทำงานที่ตัวเองรัก พร้อมกับหาวิธีสร้างรายได้จากงานที่ตัวเองรักนั้น เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องฝืนใจไปทำงานที่ไม่ได้รักอีก
แล้วคุณจะเข้าใจว่า ทำไมเมื่อทำงานที่ตัวเองรักแล้ว คุณจึงไม่ต้องทำงานอีกเลยตลอดชีวิต
ตัวอย่างหนังสือ